นโยบายบริหาร
พรรคเพื่อไทยมีนโยบายในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการบริหารที่สำคัญคือ ปรับเปลี่ยนกลไกการทำงานของภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการปรับปรุงวิธีคิดและทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน บนพื้นฐานของหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและสาธารณชน
การพัฒนระบบราชการ เป็นนโยบายการบริหารที่มีความสำคัญเร่งด่วน พรรคมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาระบบราชการต่อเนื่องจากการปฏิรูปราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของภาครัฐจากผู้ปฏิบัติและควบคุม มาเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยปรับปรุงการบริหารการจัดการ ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่อย่างมีหลักการสมเหตุ สมผล มีความรับผิดชอบ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การสร้างความโปร่งใสเปิดเผยของระบบราชการ โดยเฉพาะความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และการบริหารจัดการที่สามารถคาดคะเนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน
ปรับเปลี่ยนแนวความคิดของการบริหารราชการที่มีลักษณะของการปกครอง มาเป็นการบริหารราชการในเชิงของการพัฒนา โดยประสานความร่วมมือของหน่วยราชการทุกหน่วย ให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพในทิศทางเดียวกัน ทำให้ระบบราชการมีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น มีโครงสร้างที่กระชับเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น มีความรวดเร็วต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชนยิ่งขึ้น มีคุณภาพของงานบริการในระดับมาตรฐานสากล มีการสร้างนวัตกรรมการทำงานอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ สามารถวัดความพึงพอใจของประชาชนได้ เน้นการพัฒนาทั้งคนและระบบ โดยให้งานบริการสาธารณะสิ้นสุดที่ระดับชุมชนให้มากที่สุด
พรรคมุ่งให้ข้าราชการมีทัศนคติที่เอื้อต่องานบริการประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดถือกฎระเบียบจนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน มีความหวงแหนทรัพย์สินสาธารณะ มีความซื่อสัตย์ขยันอดทน มีขวัญกำลังใจ และมีภาวะผู้นำในด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตลอดทั้งการริเริ่มระบบราชการที่เน้นการจัดจ้าง โดยการทำสัญญาที่สามารถประเมินผลงานได้ด้วยระบบคุณธรรม และให้หลักประกันความมั่นคงบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถและผลงานสาธารณะ
นโยบายการกระจายอำนาจการบริหาร พรรคจะส่งเสริมการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น ต้องมีการกระจายอำนาจทางการคลังให้กับท้องถิ่นให้สามารถจัดการบริหารงบประมาณของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการมีอิสระในการจัดการด้านงบประมาณของท้องถิ่น การแสวงหารายได้และการจัดการทรัพย์สินของท้องถิ่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น