รูปถ่าย

บล๊อกนี้ใช้ในการเรียนการสอนในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวันของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

อำนาจหน้าที่ของสถาบันตุลาการไทย

สถาบันตุลาการของไทย แม้จะประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในทางวิชาการแล้ว ระบบศาลของไทยเป็น ”ระบบศาลคู่” เนื่องจากเป็นระบบที่กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งและคดีอาญา หรือคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองหรือคดีที่เอกชนพิพาทกับฝ่ายปกครองเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองนั้น อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ซึ่งมีระบบศาลและระบบผู้พิพากษาแยกต่างหากจากระบบศาลและระบบผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลยุติธรรมมีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีต่างๆ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ทำให้ศาลยุติธรรมมีบทบาทเป็นศาลหลักซึ่งมีเขตอำนาจเป็นการทั่วไปที่ต้องรับคดีที่ไม่อยู่ ในเขตอำนาจของศาลอื่นๆ ที่เป็นศาลเฉพาะไว้พิจารณาพิพากษา แต่โดยทั่วไปแล้ว ศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาซึ่งนับว่าเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรมได้จัดโครงสร้างให้มีแผนกต่างๆ เพื่อรับผิดชอบคดีเฉพาะด้าน เช่น แผนกคดีผู้บริโภค แผนกคดีสิ่งแวดล้อม แผนกคดีล้มละลาย แผนกคดีเลือกตั้ง หรือแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในยุคแห่งการปฏิรูปการเมือง ศาลยุติธรรม โดยเฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย หรืออีกนัยหนึ่งคือการปฏิรูปการเมือง ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังนี้

-ศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

-ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น

-ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติด และการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

-ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา คดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

ศาลปกครอง มีอำนาจหน้าที่หลักคือวินิจฉัยคดีชี้ขาดคดีในทางกฎหมายมหาชน ที่เรียกว่า "คดีการปกครอง" รวมถึงการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือการกระทำทางปกครอง สัญญาทางปกครองหรือนิติกรรมทางปกครองต่างๆ

ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่หลักคือวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรต่างๆ การวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการการเลือกตั้ง การวินิจฉัยชี้ขาดสมาชิกภาพของรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา รวมไปถึงการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย

กล่าวโดยสรุป สถาบันตุลาการไทยถูกกำหนด (โดยกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ) ให้เป็นสถาบันที่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการปฏิรูปการเมือง ทั้งในยุคที่ 1 และยุคที่ 2 โดยที่นอกจากบทบาทอำนาจหน้าที่โดยทั่วไป ที่ต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ที่อยู่ภายในเขตอำนาจแล้ว (ซึ่งต้องเป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์) ยังกำหนดให้สถาบันตุลาการมีเขตอำนาจในคดีทางการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวพันกับการเมือง ซึ่งเป็นบทบาทใหม่ที่ท้าทายมาก ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น กำหนดให้สถาบันตุลาการเข้าไปมีบทบาทอำนาจหน้าที่ในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ไปใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนิติบัญญัติของไทย

ในอีกแง่หนึ่ง “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย” โดยศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั้น เป็นบทบาทอำนาจหน้าที่ซึ่งสอดคล้องกับ “หลักนิติธรรม” ที่กำหนดให้การออกกฎหมายของรัฐสภามีระบบการตรวจสอบความถูกต้อง ชอบธรรมของกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และการตรวจสอบเนื้อหาสาระของกฎหมาย รวมทั้งระบบการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย กฎ คำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ ว่าเป็นไปด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม ภายใต้ขอบเขตอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น