หลังจากที่ได้กล่าวถึงการปกครองระบอบประธานาธิบดี(presidential system)ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบไปแล้วว่ามีหลักการสำคัญและเหมือนหรือแตกต่างจากระบอบรัฐสภา(parliamentary system)อย่างไร ก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นตามมาอย่างหลากหลาย ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่าระบอบประธานาธิบดีเองนั้นก็มิใช่จะมีความสมบูรณ์หรือ เหมาะสมกับทุกประเทศเพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง ข้อดีก็คือประธานาธิบดีไม่ต้องถูกรัฐสภาตรวจสอบหรือถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้ วางใจ แต่ข้อเสียก็คือหากประเทศใดที่ใช้ระบอบนี้ระบบพรรคการเมืองไม่เข้มแข็งก็จะ เกิดความไม่ราบรื่นในการบริหารประเทศตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกกฎหมาย เป็นต้น
ระบอบกึ่งประธานาธิบดี(semi-presidential system)หรือเรียก อีกอย่างหนึ่งว่าระบอบกึ่งรัฐสภา(semi-parliamentary system)ที่ จะกล่าวถึงนี้ จริงๆแล้วก็คือระบอบประธานาธิบดีนั่นเอง แต่ได้ถูกปรับปรุงหรือแก้ไขหลักการใหม่เพื่อเหมาะสมกับแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศแรกที่นำระบอบกึ่งประธานาธิบดีมาใช้ก็คือประเทศฝรั่งเศส และตามมาด้วยประเทศที่เกิดใหม่ทั้งหลายที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียตภายหลัง จากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์นั่นเอง
ระบอบ กึ่งประธานาธิบดีนี้พัฒนามาจากประเทศฝรั่งเศสในช่วงที่มี ความวุ่นวายทางการเมือง ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็จะเกิดข้อขัดแย้งอยู่เสมอ ทำให้การบริหารบ้านเมืองหยุดชะงัก ดังนั้น นักรัฐศาสตร์และนักกฎหมายมหาชนของฝรั่งเศสจึงได้คิดรูปแบบการปกครองใหม่ที่ นำเอาระบอบประธานาธิบดีและระบอบรัฐสภามาผสมผสานกัน โดยให้ประธานาธิบดียังมีอำนาจมากแต่ก็เปิดโอกาสให้รัฐสภาควบคุมการทำงานของ ฝ่ายบริหารได้ด้วย
หลักการสำคัญของระบอบกึ่งประธานาธิบดี
๑) ประธานาธิบดียังคงมีอำนาจสูงสุด เพราะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีในระบอบนี้แตกต่างจากระบอบประธานาธิบดีคือประธานาธิบดีจะแบ่ง สรรอำนาจในการบริหารให้แก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลบางส่วน กล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือประธานาธิบดีมีอำนาจในทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารจัดการ แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ และการลงนามในกฎหมายยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี ซึ่งแตกต่างจากประธานาธิบดีในระบอบประธานาธิบดีที่จะกุมอำนาจบริหารไว้หมด และจะไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบนี้ และในทำนองกลับกันตัวประธานาธิบดีในระบอบรัฐสภาก็เป็นเพียงประมุขแต่ไม่มี อำนาจในการบริหาร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารแทน
๒) อำนาจของรัฐสภาในระบอบนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างระบอบรัฐสภาและระบอบประธานาธิบดี คือ รัฐสภามีอำนาจมากรัฐสภาในระบอบประธานาธิบดี แต่ก็ยังมีอำนาจน้อยกว่าระบอบรัฐสภา เพราะรัฐสภามีอำนาจในการควบคุมการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้ สามารถตั้งกระทู้ถามหรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้ ซึ่งในระบอบประธานาธิบดีไม่สามารถทำอย่างนี้ได้
๓) นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบต่อประธานาธิบดี แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาด้วย ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมีภาระที่ต้องขึ้นอยู่กับทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา เพราะทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาสามารถปลดนายกรัฐมนตรีออกได้ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง
อย่างไร ก็ตามระบอบกึ่งประธานาธิบดีฯนี้ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเสียทีเดียว ไม่เช่นนั้นประเทศที่เกิดใหม่ทั้งหลายคงไม่นำระบอบกึ่งประธานาธิบดีนี้ไปใช้ กันเป็นจำนวนมาก ข้อดีที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดและมีอิสระในการทำงาน ซึ่งเหมาะสมกับประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย เพราะสภาพบ้านเมืองของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นและประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายหา ผู้ที่มีบารมีหรือมีอิทธิพลทางการเมืองได้ยาก หากใช้ระบอบรัฐสภาก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศเพราะมี พรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดจึงทำให้รัฐบาลมีอายุยืนยาวขึ้น สามารถปฏิบัติภารกิจได้เต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจด้านการทหาร
ข้อ ดีอีกประการหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของระบอบนี้ก็คือการแยกอำนาจทางการเมือง และอำนาจบริหาร ทำให้ประธานาธิบดีไม่ต้องทำงานบริหารแบบงานประจำ เช่น การลงนามลงชื่อในงานประจำทั้งหลาย การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ ประธานาธิบดีในระบอบนี้ได้ใช้เวลาในการปฏิบัติงานด้านการเมืองอย่างเต็มที่ เช่น การเสนอนโยบาย วิเคราะห์และวางแผนทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ
กล่าว โดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะเป็นระบอบประธานาธิบดี ระบอบรัฐสภาหรือระบอบกึ่งประธานาธิบดีต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ประเทศไหนจะใช้การปกครองในระบอบใดย่อมขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองของ ประเทศนั้นๆ และขึ้นอยู่กับแนวคิดของประชาชนในชาติว่าจริงๆแล้วเขาต้องการการปกครองใน ระบอบไหน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น