การปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในรัฐ
ลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรีกโบราณ โดยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
- ลักษณะทางสังคม คือ ความเสมอภาคในการดำเนินชีวิต ทุกคนมีส่วนเท่าเทียมกัน
- ลักษณะทางเศรษฐกิจ คือ ประชาชนมีโอกาสจะได้รับประโยชน์สุขทางเศรษฐกิจ
- ลักษณะทางการเมือง คือ ประชาชนมีสิทธิทาการเมือง เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง
หลักการระบอบประชาธิปไตย มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจรัฐ
2.ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง
3.หลักการปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชน
4.การใช้หลักเหตุผล คือ นำเหตุผลมาประกอบความคิดเห็นในการดำเนินงานต่าง ๆ
5.หลักความยินยอม หลักประชาธิปไตยต้องการให้มีการกระทำด้วยความสมัครใจ
6.หลักการปกครองโดยเสียงข้างมากในการแสวงหาข้อยุติการตัดสินใจ
7.รัฐบาลมีอำนาจจำกัดและจำเป็น โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
8.หลักเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการใช้สิทธิอันชอบธรรม
9.หลักการประนีประนอม กล่าวคือ พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยทางตรง คือ ให้ประชาชนของประเทศใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง ในทางปฏิบัติจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศนั้นมีจำนวนประชากรไม่มากนักสามารถร่วมประชุมปรึกษาหารือกันได้โดยตรงไม่ตองมีตัวแทน
ประชาธิปไตยทางอ้อม คือ ประชาชนจะเลือกผู้แทนมาทำหน้าที่ปกครองประเทศแทนตน โดยให้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในด้านต่าง ๆ เช่น อำนาจนิติบัญญัติ เป็นต้น ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ก็ใช้หลักการของระบอบประชาธิปไตยทางอ้อมทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏในรูปแบบต่างๆ กัน ดังนี้
1.ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
2.ประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี
3.การปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา
แนวความคิดที่จะนำเอารูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศไทย ได้เริ่มต้นขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงดำเนินรัฐประศาสโนบาย เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่น โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการปกครอง
ในปีพุทธศักราช 2417 หรือการปฏิรูประบบราชการ ปีพุทธศักราช 2435 และที่สำคัญคือการเลิกทาส ซึ่งนับเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครองทวีความรุนแรงขึ้นพระองค์ทรงจัดตั้งเมืองสมมุติขึ้นมีชื่อว่า" ดุสิตธานี " ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต เพื่อทดลองการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปีพุทธศักราช 2468 พระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะวางรากฐานการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังปรากฏหลักฐานและเอกสารการเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนหลายครั้ง แต่ถูกยับยั้งจากที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควรช่วงเวลานั้นกระแสการเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนในที่สุดมีกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า" คณะราษฎร" ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยเหตุผลที่ว่า
1.พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาแห่งเกียรติศักดิ์ เพราะทรงมีพระราชตระกูลสูง ย่อมทำให้เกิดความไว้วางใจและศรัทธาต่อพระองค์ สมคำกล่าวที่ว่า "พระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น"
2.เหตุที่ทรงรับตำแหน่ง เพราะสืบราชสันตติวงศ์ ไม่ใช่เพราะคะแนนเสียงจากผู้ใด จึงทำให้ทรงเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างแท้จริง มีผลให้ทรงประสานผลประโยชน์ของชาติลุล่วงได้ด้วยดี
3.เพราะทรงเป็นประมุขของประเทศอย่างถาวร ทำให้ทรงมีโอกาสสะสมประสบการณ์ มีพระปรีชาสามารถ เข้าพระราชหฤทัยถึงปัญหาของการบริหารราชการ
4.ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นชาติและความสามัคคีของคนในชาติ ในขณะที่นักการเมืองอื่นไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อมีการเมืองเข้าเกี่ยวข้องก็อาจเกิดความขัดแย้งกันได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น